จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ความปลอดภัย(ในการทำงาน)ง่ายนิดเดียว

         จากลิ้งค์ของ http://www.ilo.org/safework/info/standards-and-instruments  ศูนย์ข้อมูลด้านความปลอดภัยและอนาชีวอนามัยระหว่างประเทศ หรือ CIS ผมหวังว่าคงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย สำหรับคู่มือที่น่าสนใจที่ผมได้จากเว็บไซต์ CIS ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นข่าวและเป็นที่สนใจไปทั่วโลก คือ เหตุเพลิงไหม้โรงงานสิ่งทอที่ประเทศปากีสถาน ทำให้ลูกจ้างเสียชีวิตมากกว่า ๒๐๐ คน สาเหตุของเพลิงไหม้ผมคงไม่กล่าวถึง แต่ที่ผมจะกล่าวถึงคือ การเตรียมความพร้อมของสถานประกอบกิจการเพื่อควบคุมและบรรเทาถ้าเกิดเหตุเพลิงไหม้ จากคู่มือ“การจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับเพลิงไหม้” (Fire Risk Management) ซึ่งคู่มือได้สรุปต้นเหตุหลักที่นำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วย การจัดเก็บวัสดุไวไฟในสถานที่ทำงาน การขาดมาตรการหรือวิธีการควบคุมแหล่งที่อาจเป็นต้นเพลิงไหม้ การขาดการโต้ตอบเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างทันท่วงที การขาดวิธีการควบคุมเพลิงไหม้ที่ถูกต้อง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถหลบหนีจากสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้นั้น มี ๔ สาเหตุหลัก คือ
๑.    การออกแบบอาคารที่ไม่เหมาะสม
๒.    สิ่งกีดขวางเส้นทางหนีไฟ
๓.    การขาดสัญลักษณ์เตือนเบื้องต้นเกี่ยวกับเพลิงไหม้
๔.    การขาดขั้นตอนหรือวิธีการโต้ตอบกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นสาเหตุหลักที่เกิดขึ้นกับสถานประกอบกิจการทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา
นอกจากนั้น คู่มือได้กล่าวถึงการควบคุมและลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้        ซึ่งสถานประกอบกิจการ (หรือนายจ้าง) ควรมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวแก่ระดับผู้บริหารหน่วยงานรับผิดชอบในการกำหนดแผนการจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายของสถานประกอบกิจการ (หรือนายจ้าง) โดยแผนควรประกอบด้วย องค์ประกอบหลักๆ ที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ดังนี้
๑.    การควบคุมวัสดุไวไฟ
๒.    การลดต้นเหตุที่เป็นสาเหตุต่อการเกิดเพลิงไหม้
๓.    มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่มีประสิทธิภาพ
๔.    ข้อคับและวิธีปฏิบัติเพื่อโต้ตอบเกิดฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ
๕.    การควบคุมขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้
๖.    การจัดการความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้
๗.    ข้อมูล การฝึกอบรม และการศึกษาเกี่ยวกับเพลิงไหม้
        สำหรับรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ ผมจะกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไป ซึ่งรวมถึงตัวอย่างแบบตรวจซึ่งเป็นมาตรการเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้             ผมคิดว่าแบบดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์กับสถานประกอบกิจการขนาดเล็กและกลาง

ที่มา : Fire Risk Management, International Labour Office.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น