จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ความปลอดภัย(ในการทำงาน)ง่ายนิดเดียว
                จากที่ผมกล่าวถึง ๗ องค์ประกอบหลักๆ ที่สำคัญที่ควรพิจารณาในการวางแผน       เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ไปแล้วนั้น ในสัปดาห์นี้ผมจะกล่าวถึงรายละเอียด        แต่ละองค์ประกอบที่คู่มือได้กล่าวถึง โดยเริ่มต้นจากการควบคุมวัสดุหรือสารไวไฟและ       การลดหรือกำจัดต้นเหตุที่เป็นสาเหตุต่อการเกิดเพลิงไหม้
๑. การควบคุมวัสดุหรือสารไวไฟ
วัสดุหรือสารไวไฟที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องกำหนดพื้นที่การจัดเก็บในที่ชัดเจนภายในพื้นที่การทำงานหรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม ขณะเดียวกันจำนวนหรือปริมาณที่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่การทำงานควรปริมาณที่จำกัดหรือจำเป็นต่อการใช้งาน เพื่อง่ายต่อการป้องกันและควบคุมหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น
-         สารไวไฟที่อยู่ในรูปของเหลวหรือก๊าซควรถูกจัดเก็บในสถานที่จัดเก็บภายนอก
    สถานที่ทำงาน
-         วัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ เช่น กระดาษ ผ้า ไม้ พลาสติก และวัสดุที่เป็นหีบห่อ เป็นต้น ไม่ควรถูกจัดเก็บในสถานที่ยกตัวอย่าง เช่น
ก.     พื้นที่ใต้บันไดหรือช่อง ปล่องบันได
ข.     เครื่องจักรที่มีความร้อน
ค.     อุปกรณ์และสายไฟฟ้า
ง.      พื้นที่การทำงานที่ก่อให้เกิดความร้อน เช่น งานเชื่อม งานบด เป็นต้น
วัสดุหรือสารไวไฟควรมีฉลากที่บอกถึงข้อมูลเบื้องต้น เช่น ข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับวัตถุหรือวัสดุไวไฟนั้น
ไอสารเคมีที่สามารถติดไฟง่ายและก่อให้เกิดเพลิงไหม้ต่อหีบห่อหรือภาชนะที่บรรจุจะต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น
-         หีบห่อหรือภาชนะที่บรรจุ รวมถึงสถานที่จัดเก็บหรือพื้นที่การทำงานต้องมีคุณสมบัติที่ทนต่อความร้อนหรือเพลิงไหม้
-         การจัดการสถานที่จัดเก็บที่เหมาะสม เช่น การจัดเก็บโดยจำแนกวัสดุหรือ    สารไวไฟตามประเภทหรือคุณสมบัติของวัสดุหรือสารไวไฟนั้น
-         หลีกเลี่ยงการจัดเก็บวัสดุหรือสารไวไฟบริเวณรอบอาคารหรือบริเวณพื้นที่      โล่งแจ้งที่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์
-         กำหนดพื้นที่สูบบูหรี่สำหรับลูกจ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกจ้างมีโอกาสเข้าใกล้พื้นที่ที่จัดเก็บวัสดุหรือสารไวไฟ
-         การตรวจความปลอดภัยเป็นวิธีการที่สำคัญ เพื่อในทุกคนปฎิบัติตามมาตราการที่กำหนดไว้
๒. การลดหรือกำจัดต้นเหตุที่เป็นสาเหตุต่อการเกิดเพลิงไหม้
ตำแหน่งแหล่งที่ก่อให้เกิดความร้อนหรือที่สามารถติดไฟได้ ต้องถูกพิจารณาอย่าง   มีนัยสำคัญกับพื้นที่การจัดเก็บวัสุดหรือสารไวไฟ ซึ่งหมายความว่า เราต้องมีมาตรการในการแยกทั้งสองแหล่งออกจากกัน โดยแหล่งที่ก่อให้เกิดความร้อนหรือที่สามารถติดไฟได้ควรได้รับการควบคุมและกำหนดไว้ชัดเจนภายในแผนฯ เช่น
-         พื้นที่สูบบุหรี่ในสถานที่ทำงาน
-         การควบคุมการเข้าออก เพื่อป้องกันการลอบวางเพลิง
-         การจัดสถานที่การจัดเก็บ เมื่อมีการทำงานก่อให้เกิดความร้อน
-         มอบหมายผู้รับผิดชอบในพื้นที่ในการติดตามและควบคุม เมื่อมีการทำงาน        
     ที่ก่อให้เกิดความร้อน
-         กำหนดระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการเผาหรือทำลายสิ่งของที่เหลือ   
     ใช้จากการทำงาน
-       การตรวจสอบและบำรุงรักษาสภาพอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากสภาพอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ดังนั้น ควรมีการกำหนดข้อควรระวังที่ต้องดำเนินการเป็นพิเศษ เช่น
ก.     อุปกรณ์และเครื่องมือไฟฟ้าควรมีสายดินเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิติที่เป็นสาเหตุการเกิดติดไฟได้
ข.     วงจรไฟฟ้าแต่ละวงจรควรมีขนาดฟิวส์ที่เหมาะสมหรือเครื่องป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
ค.     ควรต่อสายไฟฟ้าเข้าสู่อุปกรณ์หรือเครื่องไฟฟ้าโดยตรงแทนการใช้สายไฟฟ้าชนิดอ่อน เพื่อป้องกันความเสียหายของสายไฟฟ้า เช่น ฉนวนของสายไฟ หรือการลดการต่อพ่วงสายไฟฟ้าที่อาจทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ความปลอดภัย(ในการทำงาน)ง่ายนิดเดียว

         จากลิ้งค์ของ http://www.ilo.org/safework/info/standards-and-instruments  ศูนย์ข้อมูลด้านความปลอดภัยและอนาชีวอนามัยระหว่างประเทศ หรือ CIS ผมหวังว่าคงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย สำหรับคู่มือที่น่าสนใจที่ผมได้จากเว็บไซต์ CIS ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นข่าวและเป็นที่สนใจไปทั่วโลก คือ เหตุเพลิงไหม้โรงงานสิ่งทอที่ประเทศปากีสถาน ทำให้ลูกจ้างเสียชีวิตมากกว่า ๒๐๐ คน สาเหตุของเพลิงไหม้ผมคงไม่กล่าวถึง แต่ที่ผมจะกล่าวถึงคือ การเตรียมความพร้อมของสถานประกอบกิจการเพื่อควบคุมและบรรเทาถ้าเกิดเหตุเพลิงไหม้ จากคู่มือ“การจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับเพลิงไหม้” (Fire Risk Management) ซึ่งคู่มือได้สรุปต้นเหตุหลักที่นำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วย การจัดเก็บวัสดุไวไฟในสถานที่ทำงาน การขาดมาตรการหรือวิธีการควบคุมแหล่งที่อาจเป็นต้นเพลิงไหม้ การขาดการโต้ตอบเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างทันท่วงที การขาดวิธีการควบคุมเพลิงไหม้ที่ถูกต้อง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถหลบหนีจากสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้นั้น มี ๔ สาเหตุหลัก คือ
๑.    การออกแบบอาคารที่ไม่เหมาะสม
๒.    สิ่งกีดขวางเส้นทางหนีไฟ
๓.    การขาดสัญลักษณ์เตือนเบื้องต้นเกี่ยวกับเพลิงไหม้
๔.    การขาดขั้นตอนหรือวิธีการโต้ตอบกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นสาเหตุหลักที่เกิดขึ้นกับสถานประกอบกิจการทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา
นอกจากนั้น คู่มือได้กล่าวถึงการควบคุมและลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้        ซึ่งสถานประกอบกิจการ (หรือนายจ้าง) ควรมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวแก่ระดับผู้บริหารหน่วยงานรับผิดชอบในการกำหนดแผนการจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายของสถานประกอบกิจการ (หรือนายจ้าง) โดยแผนควรประกอบด้วย องค์ประกอบหลักๆ ที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ดังนี้
๑.    การควบคุมวัสดุไวไฟ
๒.    การลดต้นเหตุที่เป็นสาเหตุต่อการเกิดเพลิงไหม้
๓.    มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่มีประสิทธิภาพ
๔.    ข้อคับและวิธีปฏิบัติเพื่อโต้ตอบเกิดฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ
๕.    การควบคุมขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้
๖.    การจัดการความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้
๗.    ข้อมูล การฝึกอบรม และการศึกษาเกี่ยวกับเพลิงไหม้
        สำหรับรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ ผมจะกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไป ซึ่งรวมถึงตัวอย่างแบบตรวจซึ่งเป็นมาตรการเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้             ผมคิดว่าแบบดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์กับสถานประกอบกิจการขนาดเล็กและกลาง

ที่มา : Fire Risk Management, International Labour Office.

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


                 ความปลอดภัย(ในการทำงาน)ง่ายนิดเดียว
            เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม                  The International Occupational Safety and Health Information Centre Network หรือ CIS Network ครั้งที่ ๕๐ ซึ่งจัดขึ้นที่ International Labour Office, Geneva, Switzerland (วันที่ ๑๙-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) โดย CIS เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Office, ILO) โดย CIS เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างประเทศ โดยประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า    ๖๐ คน จากประเทศสมาชิกทั่วโลก การประชุมเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และความสำเร็จในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิก และกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

           นอกจากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจากกลุ่มประเทศเครือข่ายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ประกอบด้วย
    เครือข่ายแรงงานจากแอฟริกา หรือ Africa Regional Labour Administration Centre
    เครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจากกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา หรือ ALASEHT
    เครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจากกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN-OSHNET
    เครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจากกลุ่มประเทศยุโรป หรือ European Agency for Safety and Health at Work (EU-OSHA)

         จากที่ผมได้กล่าวในข้างต้น ประเทศสมาชิกของ CIS จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่เป็นประโยชน์ที่แต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะในประเทศนั้นๆ และ CIS ได้พัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยพร้อมกับแปลเป็นภาษาต่างๆ ในการที่ประเทศสมาชิกจะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในประเทศตน สำหรับข้อมูลต่างๆ นั้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์                        http://www.ilo.org/safework/info/standards-and-instruments
โดยในเว็บไซต์มีข้อมูลความปลอดภัยและอาชีวอนามัยหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมก่อสร้าง และงานภาคเกษตร เป็นต้น หรือ Encyclopaedia of Occupational Health and Safety ของ CIS สำหรับผู้ที่สนใจมาตรฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในเรื่องต่างๆ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มได้ที่ห้องสมุดสำนักความปลอดภัยแรงงาน ชั้น ๔ อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


บทความที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงการตรวจสอบปั้นจั่นตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานโดยวิศวกรเครื่องกล ซึ่งก็มีคำถามเพิ่มเติมอีกว่า การตรวจสอบของวิศวกรเครื่องกลวรวมถึงตรวจสอบฐานการรับรองปั้นจั่นหรือไม่
สำหรับการตรวจสอบฐานรองรับปั้นจั่น เช่น ปั้นจั่นหอสูงในงานก่อสร้างน ปั้นจั่นที่ติดตั้งในอาคารหรือโรงงาน เป็นต้น การออกแบบและตรวจสอบฐานรองรับนั้นต้องเป็นหน้าที่ของ “วิศวกรโยธา” ตั้งแต่ระดับภาคีวิศวกรเป็นต้นไปตามข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ..๒๕๕๑
ดั้งนั้น เมื่อเราพูดถึงการตรวสอบปั้นจั่นตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน จะมีวิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้อง ๒ ด้าน คือ วิศวกรเครื่องกลที่เน้นการตรวจสอบโครงสร้างที่มีการเคลื่อนไหว ที่เราอาจเรียกว่า Dynamic Structure และวิศวกรโยธาที่เน้นตรวจสอบโครงสร้างที่มีความมั่นคง แข็งแรง ที่เราอาจเรียกว่า Static Structure
นอกจากนั้น ตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอื่นที่สถานประกอบกิจการต้องให้วิศวกรทั้งสองสาขา ทำการตรวจสอบ รับรอง ดังนี้
. โดยวิศวกรเครื่องกล : ลิฟต์หรือลิฟต์โดยสารและขนส่งวชั่วคราว หม้อไอน้ำ เครื่องตอกเสาเข็มเครื่องกลในงานก่อสร้าง
. โดยวิศวกรโยธา : นั่งร้าน ค้ำยันในงานก่อสร้างหรืออาคาร โรงงาน มาตรการดูแลความปลอดภัยลูกจ้างที่เข้าพักอาศัยในหน่วยงานก่อสร้าง


วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


เรื่องความปลอดภัย(ในการทำงาน)ง่ายนิดเดียว

ความปลอดภัยในการทำงานเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา เพราะเราทุกคนต้องประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนและครอบครัวไม่ว่าจะเป็นงานอิสระ    (ส่วนตัว) หรืองานที่ต้องรับจ้าง 

สำหรับ Blogger นี้ ผมมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยในการทำงาน (งานที่ต้องรับจ้าง) ทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต งานก่อสร้าง งานบริการ เป็นต้น     เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานด้านความปลอดภัยในการทำงาน 

โดยผมขอเริ่มต้นกับคำถามในกลุ่มเพื่อนงานด้านความปลอดปลอดภัยฯ     ที่เราพูดคุยกันบ่อย คือ “เราจะให้ใครเป็นผู้สามารถตรวจสอบปั้นจั่นได้   ตามกฏหมายความปลอดภัยในการทำงาน? ซึ่งจากสืบค้นข้อมูลผมพบว่า ผู้ที่สามารถตรวจสอบปั้นจั่นได้ตามกฏหมายความปลอดภัยในการทำงานนั้น คือ วิศวกรรมสาขาเครื่องกลทั้งประเภทภาคีวิศวกร สามัญวิศวกร   และวุฒิวิศวกร ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานในลักษณะงานดังกล่าวตาม   พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ สามารถทำการตรวจสอบและ   รับรองผลการตรวจส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามกฏหมาย          ความปลอดภัยในการทำงาน โดยขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องจักร และขนาดการให้กำหนิดพลังงาน/ขนาดการใช้พลังงาน และขนาดความดันซึ่งเข้าข่ายที่กฎหมายควบคุม (รายละเอียดเพิ่มเติมจาก : ข้อบังคับสภาวิศวกร        ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล .. ๒๕๕๑ ; ราชกิจจานุเบกษา   เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๗๘ ง วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)