จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๒)
“แรงงานนอกระบบ”

เมื่อกล่าวถึง “แรงงานนอกระบบ” ผู้อ่านหลายท่านเกิดความสงสัยว่าหมายถึงใคร บ้างก็ว่าแม่ค้าแผงลอย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และเข้าไปดูแลในด้านต่างๆ แต่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการที่แรงงาน เหล่านั้นควรจะได้รับ ผู้อ่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการดูแลแรงงานนอก      ในมาตรา ๔๐ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ฉบับแก้ไข โดยผู้มีสิทธิประกันตนตามมาตรา ๔๐ เช่น เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับจ้างอิสระ คนทำงานบ้าน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (เช่น วิศวกร แพทย์ ทนายความ ช่างเสริมสวย) เป็นต้น
สำหรับด้านความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้กำหนดนิยาม              “แรงงานนอกระบบ หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในวัยกำลังทำงานและมีงานทำแต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย       และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” โดยแนวปฏิบัตินี้จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมใน    การทำงานตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยฯ แบ่งออกเป็น ๒ มาตรการ คือ มาตรการดูแลสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมาตรการส่งเสริมสุขภาพ                  ในกรณีที่มีหัวหน้างานผู้เป็นหัวหน้างานต้องควบคุม กำกับ ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุน         การทำงานของแรงงานนอกระบบนั้น
สำหรับมาตรการที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติ พอสรุปได้ คือ
๑.    มาตรการดูแลสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น
-         คู่มือความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงาน
-         ก่อนทำงานต้องตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เป็นต้น
-         จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ และติดป้ายเตือนอันตราย
-         จัดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น ถุงมือ รองเท้า ผ้าปิดจมูก และปลั๊กอุดหู เป็นต้น
-         กำหนดเวลาพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายในการปฏิบัติงาน
-         จัดให้มีเวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นเพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
-         จัดให้มีน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะและห้องน้ำห้องส้วมที่เพียงพอ
๒.    มาตรการส่งเสริมสุขภาพ เช่น
-         งดสบบุหรี่ในสถานที่ทำงาน
-         การล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และชำระล้างร่างกายหลังเลิกงาน
-         มีกิจกรรมส่งเสริม เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น
-         การคัดแยกและเก็บขยะจากการทำงาน

มาตรการทั้งสองนี้เป็นแนวทางการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อลดความสูญเสียของแรงงานเอง และภาครัฐบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือภาระที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวและสังคมกรณีทุพพลภาพ เป็นต้น        การขยายขอบเขตการดูแลแรงงานนอกระบบนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.oshthai.org และสถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานของแรงงานนอกระบบที่ http://service.nso.go.th/nso/web/article/article_65.html

ที่มาข้อมูล :
๑.    ขั้นตอนการเบิกสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๐ : เว็บไซต์ www.sso.go.th
๒.    ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย     อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ,             กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๑)

ความคืบหน้าเกี่ยวกับ “กองทุนความปลอดภัยฯ”


ผู้เขียนหายหน้าหายตาไปซักระยะหนึ่งเนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่สำนักความปลอดภัยแรงงาน ต้องเตรียมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน แห่งชาติโดยปี ๒๕๕๖ เป็นครั้งที่ ๒๗ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓-๕ กรกฎาคม ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ในหัวข้องาน “เศรษฐกิจก้าวไกล แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”

ในครั้งนี้ผู้เขียนอยากเล่าเรื่องความคืบหน้าของกองทุนความปลอดภัยฯ ที่ก่อตั้งขึ้นตามที่   พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ได้มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัยฯ ที่จะให้เงินช่วยเหลือ เงินอุดหนุน เงินกู้ยืม และเงินทดรองจ่าย แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่ให้ความสนใจ โดย
“เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน” เป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือและอุดหนุนการดำเนินการ                
        ๑) รณรงค์ส่งเสริม พัฒนา แก้ไข และบริหารงานความปลอดภัยฯ
            ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : หน่วยงานหรือบุคคลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
) โครงการ/แผนงานส่งเสริม ศึกษาวิจัย และพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : หน่วยงานของรัฐ สมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน หรือบุคคล
) บริหารกองทุนความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
“เงินให้กู้ยืม” เป็นเงินที่จ่ายให้นายจ้างกู้ยืมเพื่อแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงาน
            ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : นายจ้าง
“เงินทดรองจ่าย” เป็นเงินทดรองจ่ายในกรณีที่อธิบดีสั่งให้พนักงานตรวจความปลอดภัยหรือมอบหมายให้บุคคลใดเข้าจัดการแก้ไขปรับปรุงสภาพความไม่ปลอดภัยแทนนายจ้าง
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ส่วนการขอรับเงินนั้น ผู้มีสิทธิขอรับจะต้องยื่นเอกสารเบื้องต้น เช่น สำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองนิติบุคคลแล้ว ยังต้องยื่นเอกสารแสดงรายละเอียดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง คือ
๑)    วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
๒)    แผนการดำเนินงาน
๓)    จำนวนช่วยเหลือและอุดหนุน
๔)    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงาน
กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิไม่ดำเนินการตามแผนภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับเงินหรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ คณะกรรมการกองทุนความปลอดภัยฯ สามารถเรียกเงินคืนหรือสั่งระงับตามที่เห็นควร

จากที่ผู้เขียนได้สรุปดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ากองทุนความปลอดภัยฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันหรือเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต และผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.oshthai.org

ที่มาข้อมูล :
ระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน การขอเงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน การอนุมัติเงินทดรองจ่าย การขอเงินทดรองจ่ายการให้กู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนแก่กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๖

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๐)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมชี้แจงการเตรียมพร้อม      เพื่อรองรับ  การประกาศบังคับใช้ “กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ    และดำเนินการ   ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.........” ซึ่งคาดว่าจะกฎกระทรวงจะบังคับใช้ในอนาคตต่อกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน ในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย    และสภาพแวดล้อม  ในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.. ๒๕๕๕       ภายใต้พระราชบัญญัติ   ความปลอดภัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม กฎหมายของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านส่วนมากรวมทั้งผู้เขียนมีโอกาส      ได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว แต่กฎหมายของกระทรวงคมนาคมแล้วส่วนตัวผู้เขียนเองมีโอกาสค้นคว้าและนำไปปฏิบัติไม่บ่อยนักในการทำงาน
          สัปดาห์นี้ผู้เขียนจึงขอแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องมาตรการด้านความปลอดภัยใน   การขนส่งที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าและเรียบเรียงจากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และคู่มือพัฒนาศักยภาพผูประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก กรมการขนส่งทางบก โดยผู้เขียนไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย(ในการทำงาน) เกี่ยวกับการบรรทุกสารเคมีอันตรายเพียงด้านเดียว แต่จะรวมถึงความปลอดภัย (ในการทำงาน) ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เครื่องอุปโภคบริโภค ผลิตผลการเกษตร เป็นต้น
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒  ได้แบ่งรถบรรทุกตามลักษณะรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ๙ ลักษณะ คือ
รถลักษณะที่ ๑ รถกระบะบรรทุก เป็นรถกระบะทั้งที่มีหลังคาและไม่มีหลังคา กระบะที่มีเครื่องทุ่นแรงสำหรับยกสิ่งของที่จะบรรทุก หรือกระบะที่สามารถยกเท
รถลักษณะที่ ๒ รถบรรทุกตู้ เป็นตู้ทึบที่มีหลังคาถาวร มีห้องคนขับและตัวถังบรรทุกติดกันหรือแยกกันก็ได้
รถลักษณะที่ ๓ รถบรรทุกของเหลว เป็นถังสำหรับบรรจุของเหลวที่เหมาะสมกับของเหลวที่บรรทุก
รถลักษณะที่ ๔ รถบรรทุกวัตถุอันตราย เป็นการบรรทุกที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อบรรทุกวัตถุอันตราย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สารเคมี
รถลักษณะที่ ๕ รถบรรทุกเฉพาะกิจ  เป็นการบรรทุกที่มีลักษณะพิเศษ เช่น รถบรรทุกขวดเครื่องดื่ม รถผสมปูนซีเมนต์ เป็นต้น
รถลักษณะที่ ๖ รถพ่วง รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกทั้งหมดเฉลี่ยลงเพลาล้อของตัวเอง
รถลักษณะที่ ๗ รถกึ่งพวง รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงเพลาล้อรถลากจูง  
รถลักษณะที่ ๘ รถกึ่งพวงบรรทุกวัสดุยาว  รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงเพลาล้อรถลากจูง และสามารถปรับระยะห่างระหว่างรถลากจูงกับรถกึ่งพวง
รถลักษณะที่ ๙ รถลากจูง เป็นรถที่ใช้ในการลากจูงรถพวง  รถกึ่งพวง และรถกึ่งพวงบรรทุกวัสดุยาวโดยเฉพาะ 

          ส่วนมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งตามกฏหมายว่าด้วยการขนส่งและจราจรทางบก ส่วนที่เกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างที่จะต้องร่วมกันปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ที่พอสรุปได้ดังนี้

๑. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๑.๑ ผู้ประกอบการขนส่งต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดปฎิบัติหน้าที่ขับรถกระทำการหรือมีอาการเมาสุราหรือของมึนเมา เสพยาเสพติดให้ให้โทษ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๔๐)
๑.๒ ผู้ประกอบการขนส่งต้องดูแลป้องกันมิให้ผู้ใดปฎิบัติหน้าที่ขับรถมีอาการเมาสุราหรือของมึนเมา   เสพยาเสพติดให้ให้โทษ หากปราฏว่าผู้ขับรถกระทำดังกล่าวให้ถือว่าผู้ประกอบการขนส่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท (มาตรา ๔๐)
๑.๓ รถที่นำมาใช้ต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยในการใช้งาน หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๗๑)
๑.๔ ผู้ขับรถต้องแต่งกายสะอาดเรียบร้อยในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐๒)
๑.๕ ผู้ขับต้องไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๒)
๑.๖ ผู้ขับรถต้องไม่ขับรถในเวลาร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐๓)
๑.๗ ผู้ขับรถต้องไม่ขับรถเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๑๐๓) คือ ในรอบ ๒๔ ชั่วโมง
          ห้ามมิให้ผู้ขับปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเกิน ๔ ชั่วโมง นับแต่เริ่มปฎิบัติหน้าที่ขับรถ เว้นแต่ผู้ขับรถได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ไม่เกิน ๔ ชั่วโมง
          หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท

  ๒.   พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๒.๑ รถบรรทุกให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๓.๐๐ เมตรจากพื้นทาง เว้นแต่รถบรรทุกที่มีความกว้างเกิน ๒.๓๐ เมตร ให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตรจากพื้นทาง
๒.๒ รถบบรรทุกตู้สำหรับบรรทุกสิ่งของ (Container) ให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๔.๒๐ เมตรจากพื้นทาง
๒.๓ รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม
          - ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือเทศบาล
          - ความเร็วไม่เกิน ­๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตดังกล่าว
๒.๔ รถบรรทุกขณะที่ใช้ลากจูงรถพ่วง
          - ความเร็วไม่เกิน ๔๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือเทศบาล
          - ความเร็วไม่เกิน ­๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตดังกล่าว
๒.๕ รถบรรทุกซึ่งบรรทุกวัตถุอันตราย
          - ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษฉลองรัช
          - ความเร็วไม่เกิน ๗๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางพิเศษบูรพาวิถี และทางอุดรรัถยา
๒.๖ ยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ (สายกรุงเทพฯ-พัทยา) และทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอนนอกกรุงเทพฯ
          - ความเร็วไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม
          - ความเร็วไม่เกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกอื่นที่นอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูงพ่วง
๒.๗ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน  สัตว์  หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกินมิให้คน สัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล  ส่งกลิ่นส่องแสงสะท้อนหรือปลิวไปจากรถ อันตรายอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ อันตรายแก่บุคคลอื่นได้กำหนดโทษ ตามมาตรา  ๑๔๘  ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษไม่เกิน  ๕๐๐  บาท(มาตรา ๒๐) 

            จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ารถบรรทุกที่อาจเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนน     ทำให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนได้รับอันตราย ไม่เพียงแต่รถบรรทุกสารเคมีอันตรายเท่านั้นแต่ยังมีรถบรรทุกอีกหลายลักษณะในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ที่อาจเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เช่นกัน ซึ่งสถานประกอบกิจการควรนำข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มากำหนดมาตราการควบคุมและป้องกัน ตั้งแต่เกณฑ์การรับสมัครผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงการปฏิบัติงานประจำวันของผู้ปฏิบัติงาน

แหล่งที่มาข้อมูล :
๑.   พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒, กฎกระทรวงฉบับที่ ๔
๒.   กรมการขนส่งทางบก, คู่มือพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก, โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก. 

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๙)
สำหรับเดือนเมษายนของทุกปี แน่นอนผู้อ่านทุกท่านต้องนึกถึงเทศการสงกรานต์และวันปีใหม่ไทย และผู้เขียนหวังว่าทุกท่านคงสนุกสนานกับเทศกาลดังกล่าวกันทั่วหน้า สำหรับท่านผู้อ่านที่ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทั้งในระดับวิชาชีพและเทคนิคขั้นสูง จะต้องไม่ลืมนะครับว่าเดือนเมษายนหรือเดือนที่ ๔ ของปี ท่านจะต้องรวบรวมผลการปฏิบัติงานของท่าน ช่วงไตรมาสแรกของปี เพื่อให้นายจ้างรายงานต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ และในปัจจุบันการรายงานผลการปฏิบัติงานของ จป. ท่านสามารถรายงานผลการปฎิบัติงานผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือระบบ e-Service ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนทางธุรกิจ (คลิ๊กเข้าระบบ)
นอกจากนั้น ท่านยังสามารถรายงานผลการปฎิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอื่นที่อยู่ในระบบ            e-Service อีก ๕ กฎกระทรวง จำนวน ๑๒ แบบรายงาน คือ
๑.     รังสีชนิดก่อไอออน
๑.๑ แบบแจ้งจำนวนและปริมาณความแรงรังสีของต้นกำหนิดรังสี (แบบ ร.๑-๑)
๑.๒ แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงของจำนวนหรือปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสี (แบบ ร.๑-๒)
๑.๓ แบบแจ้งชื่อและคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิคในเรื่องรังสี (แบบ ร.๓-๑)
๑.๔ แบบแจ้งชื่อและคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีแทนผู้รับ
      ผิดชอบเดิมซึ่งพ้นหน้าที่ (ร.๓-๒)
๑.๕ แบบรายงานการปฎิบัติงานของผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสี (แบบ ร.๕)
๒.    การตรวจสุขภาพที่พบความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยให้ การรักษาพยาบาลและการป้องกันแก้ไข
แบบแจ้งผลการตรวจสุขภาพที่พบความผิดปกติหรือการเจ็บป่วย การให้การรักษาพยาบาล   
และป้องกันแก้ไข
๓.     การแจ้งสถานที่การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้ลูกจ้างทำงานประดาน้ำ
แบบแจ้งสถานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้ลูกจ้างทำงานประดาน้ำ
๔.     การตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง ภายในสถานประกอบกิจการ
๔.๑ แบบรายงานผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานในสภาวะการทำงานที่ลูกจ้างอาจได้รับอันตราย         จากความร้อน
๔.๒ แบบรายงานผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานในสภาวะการทำงานที่ลูกจ้างอาจได้รับอันตรายจากแสงสว่าง
๔.๓ แบบรายงานผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานในสภาวะการทำงานที่ลูกจ้างอาจได้รับอันตรายจากเสียง
๕.      การจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
คือแบบรายงานที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงข้างต้น
๕.๑ แบบรายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
๕.๒ แบบรายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง

สำหรับอีกเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าสู่กันฟัง คือ เกี่ยวกับการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ                 ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อนุญาตให้หน่วยงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กระทรวงมหาดไทย) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กรุงเทพมหานคร) หน่วยงานดับเพลิงของเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา สามารถดำเนินการฝึกอบรม การดับเพลิงขั้นต้น และการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ไปพลางก่อนจนกว่าร่างกฎกระทรวงการเป็นหน่วยฝึกดำเนินการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น และการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟฉบับใหม่จะประกาศบังคับใช้



วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556





ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๘)

ผู้เขียนได้มีโอกาสตอบข้อซักถามจากสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับ “กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.. ๒๕๕๕” ผ่านทางโทรศัพท์และอีเมล์ และประเด็นที่คำถามกันบ่อย คือ นิยามเกี่ยวกับสถานที่ที่เสี่ยงต่อการอัคคีภัย คือ
      “สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างเบา”
      “สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างปานกลาง”
      “สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างร้ายแรง”
     
โดยความหมายตามกฎกระทรวง

สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างเบา” หมายความว่า สถานที่ที่มีวัตถุซึ่งไม่ติดไฟเป็นส่วนใหญ่ หรือมีวัตถุติดไฟได้ในปริมาณน้อยหรือมีวัตถุไวไฟในปริมาณน้อยที่เก็บไว้ในภาชนะปิดสนิทอย่างปลอดภัย
สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างปานกลาง” หมายความว่า สถานที่ที่มีวัตถุไวไฟหรือวัตถุติดไฟได้ และมีปริมาณไม่มาก
สถานที่ซึ่งมีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยอย่างร้ายแรง” หมายความว่า สถานที่ที่มีวัตถุไวไฟหรือวัตถุติดไฟได้ง่าย และมีปริมาณมาก

จากความหมาย เจ้าของสถานประกอบกิจการจะต้องประเมินสถานะสถานประกอบกิจการ ที่มีวัตถุครอบครองหรือมีองค์ประกอบที่อาจ   ก่อให้เกิดอัคคีภัยตามระดับความรุนแรงที่กฎหมายกำหนดเพื่อการดำเนินการตามรายละเอียดของกฎหมายต่อไป

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน    และระงับอัคคีภัย จึงได้รวบรวมข้อมูลที่อาจเป็นประโยขน์ต่อสถานประกอบกิจการ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เป็นที่ยอมกันในประเทศ คือมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

ผู้เขียนได้รวบรวมและเปรียบเทียบมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี ๒๕๒๖ และ ๒๕๕๑  เพื่อให้เจ้าของสถานประกอบกิจการมีข้อมูลเพิ่มเติมในการประเมินสภาพเสี่ยงสถานประกอบกิจการได้ถูกต้องมากขึ้น

โดยมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖ จำแนกอาคารตามลักษณะการใช้งานของอาคาร ซึ่งพิจารณาจากอัตราการเสี่ยงจากเพลิงที่เกิดขึ้น จากวัสดุที่ใช้ประกอบการในอาคารเอง
ส่วนมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๕๑ จำแนกพื้นที่ตามลักษณะการครอบครองและการใช้งานปกติของวัสดุที่สามารถติดไฟและลามไฟได้ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งพื้นที่แต่ละประเภทที่จัดจำแนกว่าจะเป็นพื้นที่ครอบครองประเภทใดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงที่ปรากฏในพื้นที่นั้นๆ ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ตารางเปรียบเทียบประเภทความเสี่ยงอาคารตามมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖ กับ      ปี ๒๕๕๑ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖              (EIT Standard 0001-26)
มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๕๑                 (EIT Standard 3002-51)
๑.      อาคารประเภทที่ ๑ : อาคารที่มีอัตราการเสี่ยงจากเพลิงที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง (Light Hazard Occupancies) แบ่งออกเป็น ๒ ลำดับตามอัตราความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนี้
๑.๑ อาคารประเภทที่ ๑ ลำดับ ๑ ประกอบด้วย บ้านไม้อยู่อาศัย บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้อาศัย อาคารพาณิชย์คูหาเดียวหรือหลายคูหา ความสูงไม่เกิน ๔ ชั้น สำนักงานขนาดเล็ก ร้านขายของชำ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขายอาหารหรือภัตตตาคารทั่วไป สโมสร โบสถ์ วัด และสถานประกอบพิธีทางศาสนา
๑.๒ อาคารประเภทที่ ๑ ลำดับ ๒ ประกอบด้วย โรงแรม โรงพยาบาล สถานพักฟื้น โรงภาพยนตร์   สถานแสดงมหรสพ สถานศึกษาทั่วไป (โรงเรียน, มหาวิทยาลัย) พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เรือนจำ อาคารสูงประเภทสำนักงาน อาคารสูงประเภทอยู่อาศัย
๑. พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย (Light Hazard Occupancies) เช่น โรงแรม อาคารพื้นที่พักอาศัยรวม หรืออพาร์ตเม้นต์ (เฉพาะส่วนห้องพัก) สำนักงานทั่วไป โบสถ์ วัด และวิหาร สโมสร สถานศึกษา โรงพยาบาล (ควบคุมวัสดุตามมาตรฐานโรงพยาบาล) สถานพยาบาลและพักฟื้น (ควบคุมวัสดุตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง) ห้องสมุด (ยกเว้นห้องสมุดที่มีชั้นวางหนังสือขนาดใหญ่) พิพิธภัณฑ์
๒.     อาคารประเภทที่ ๒ : อาคารที่มีอัตราการเสี่ยงจากเพลิงที่เกิดขึ้นรุนแรงปานกลาง (Ordinary Hazard Occupancies) แบ่งออกเป็น ๓ ลำดับ ตามอัตรา   ความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนี้
๒.๑ อาคารประเภทที่ ๒ ลำดับ ๑ ประกอบด้วย       โรงจอดรถยนต์ (เหนือพื้นดินและเปิดโล่ง) โรงงานผลิต อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ โรงงานผลิตเครื่องดื่ม           โรงทำขนมปัง โรงเครื่องอัดอาหารกระป๋อง
. พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง (Ordinary Hazard Occupancies) แบ่งออกเป็น ๒     กลุ่ม คือ
๒.๑ พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง กลุ่มที่ ๑ ประกอบด้วย ที่จอดรถยนต์และห้องแสดงรถยนต์ โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ โรงงานผลิตเครื่องดื่ม ร้านทำขนมปัง ร้านซักผ้า
ตารางเปรียบเทียบประเภทความเสี่ยงอาคารตามมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖ กับ     ปี ๒๕๕๑  สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖              (EIT Standard 0001-26)
มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๕๑                (EIT Standard 3002-51)
ร้านซักผ้า โรงงานผลิตแก้วและวัสดุที่ทำจากแก้ว ภัตตาคาร (ส่วนบริการ)
๒.๒ อาคารประเภทที่ ๒ ลำดับ ๒ ประกอบด้วย โรงงานผลิตเครื่องประดับ โรงงานผลิตเครื่องหนัง โรงงานผลิตลูกกวาดและลูกอม โกดังห้องเย็น โรงงานทอผ้า โรงงานยาสูบ โรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ไม้ โรงพิมพ์ โรงงานผลิตสารเคมี โรงสีข้าว โรงกลึง โรงงานประกอบผลิตภัณฑ์โลหะ โรงต้มกลั่น โรงเก็บรถยนต์ (ชั้นใต้ดิน)
๒.๓ อาคารประเภทที่ ๒ ลำดับ ๓ ประกอบด้วย อู่ซ่อมรถยนต์ โรงงานยาง โกดังเก็บวัสดุที่ติดไฟง่าย เช่น กระดาษ เครื่องเรือน สี สุรา ฯลฯ โรงกลึงไม้ โรงงานผลิตกระดาษ ท่าเรือ และสะพานที่ยื่นไปในน้ำ    โรงงานบดอาหาร
โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง โรงงานผลิตแก้วและวัสดุที่มาจากแก้ว ภัตตาคาร โรงงานผลิตเครื่องบริโภคประจำวัน โรงภาพยนตร์และศูนย์ประชุม (ไม่รวมเวที และเวทีหลังม่าน) สำนักงานที่เป็นอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่
๒.๒ พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง กลุ่มที่ ๒ ประกอบด้วย   โรงงานผลิตสินค้าที่ทำจากหนังสัตว์ โรงงานผลิตลูกกวาดและลูกอม โรงงานผลิตสิ่งทอ โรงงานยาสูบ โรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ไม้        โรงพิมพ์ และสิ่งพิมพ์โฆษณา โรงงานใช้สารเคมี โรงสีข้าว โรงกลึง โรงงานประกอลผลิตภัณฑ์โลหะ โรงต้มกลั่น อู่ซ่อมรถยนต์ โรงงานผลิตยางรถยนต์ โรงงานแปรรูปไม้ด้วยเครื่อง โรงงานกระดาษและผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษ      โรงภาพยนต์    ท่าเรือและสะพานส่วนยื่นไปในน้ำ โรงมหรสพที่มีการแสดง  ที่ทำการไปรษณีย์     ห้องสมุด (มีชั้นเก็บหนังสือขนาดใหญ๋) ร้านซักแห้ง ห้องเก็บของ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์แสดงสินค้าที่มีอาคารขนาดใหญ่ ซุปเปอร์สโตร์ที่เก็บสินค้าไม่เกิน ๓.๖ เมตร (๑๑๒ ฟุต)


ตารางเปรียบเทียบประเภทความเสี่ยงอาคารตามมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖ กับ    ปี ๒๕๕๑ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖              (EIT Standard 0001-26)
มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ปี ๒๕๕๑                 (EIT Standard 3002-51)
๓. อาคารประเภทที่ ๓ : อาคารที่มีอัตราการเสี่ยงจากเพลิงที่เกิดขึ้นรุนแรงมาก (Extra Hazard Occupancies) แบ่งออกเป็น ๒ ลำดับ ตามอัตราความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนี้
๓.๑ อาคารประเภทที่ ๓ ลำดับ ๑ เป็นอาคารที่มีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเหลว (Combustible Liquids) หรือของเหลวที่ระเหยติดไฟ (Flammable Liquids) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบด้วย โรงงานผลิตไม้อัดและแผ่นไม้ โรงเลื่อย โรงงานสร้างรถยนต์ โรงงานผลิตสี ซึ่งใช้สารระเหยที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า ๓๗ เซลเซียส โรงเก็บเครื่องบิน      โรงซ่อมเครื่องบิน โรงงานสร้างเครื่องบินอู่ต่อเรือ โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก โรงงานถลุงแร่
๓.๒ อาคารประเภทที่ ๓ ลำดับ ๒ เป็นอาคารที่มีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเหลว (Combustible Liquids) หรือของเหลวที่ระเหยติดไฟ (Flammable Liquids) โดยตรงประกอบด้วย โรงงานผลิตยางมะตอย โรงงานผลิตจาระบี โรงงานประกอบรถยนต์ทุกชนิด โรงงานทำสารละลาย โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตน้ำมันเครื่อง

๓.      พื้นที่ครอบครองอันตรายมาก (Extra Hazard Occupancies) แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
๓.๑ พื้นที่ครอบครองอันตรายมากกลุ่มที่ ๑ เป็นพื้นที่มีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับของเหลวติดไฟ (Combustible Liquid) หรือของเหลวไวไฟ (Flammable Liquid) ในปริมาณไม่มาก
ประกอบด้วย 
โรงเก็บและซ่อมเครื่องบิน พื้นที่ๆใช้งานโดยมีของเหลวไฮดรอลิคติดไฟได้ หล่อด้วยแบบโลหะขึ้นรูปโลหะ โรงงานผลิตไม้อัดและไม้แผ่น โรงพิมพ์     (ใช้หมึกพิมพ์ที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า ๓๗.๙๐ เซลเซียส) อุตสาหกรรมยาง โรงเลื่อย โรงงานสิ่งทอรวมทั้งโรงฟอก ย้อม ปั่นฝ้าย เส้นใยสังเคราะห์ และฟอกขนสัตว์ โรงทำเฟอร์นิเจอร์ด้วยโฟม 
๓.๒ พื้นที่ครอบครองอันตรายมากกลุ่มที่ ๒ เป็นพื้นที่มีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับของเหลวติดไฟ (Combustible Liquid) หรือของเหลวไวไฟ (Flammable Liquid) โดยตรง ประกอบด้วย
โรงงานผลิตยางมะตอย โรงพ่นสี โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตน้ำมันเครื่อง พื้นที่ๆใช้สารฉีดชนิดของเหลวติดไฟได้ โรงชุบโลหะที่ใช้น้ำมัน อุตสาหกรรมพลาสติก พื้นที่ล้างโลหะด้วยสารละลาย การเคลือบสีด้วยการจุ่ม               


แหล่งที่มาข้อมูล :
. มาตรฐานการป้องกันและระงับอัคคีภัย ปี ๒๕๒๖ (EIT Standard 0001-26) สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์ครั้งที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๙.
. มาตรฐานการป้องกันและระงับอัคคีภัย ปี ๒๕๕๑ (EIT Standard 3002-51) สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๑.