จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ความปลอดภัย(ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว : 

หลักปฏิบัติการออกแบบและการใช้งานนั่งร้าน ตอนที่ ๑













วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๓)
          ผู้เขียนได้รวบรวมการถาม-ตอบ จากอีเมล์ akarapong.n@labour.mail.go.th เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน โดยในตอนนี้มีทั้งหมด ๕ ถามตอบ (โดยผู้เขียนเป็นผู้ตอบเบื้องต้น) ครับ

คำถามที่ ๑. ขอสอบถามเรื่องการติดตั้งระบบน้ำดับเพลิงตามที่กฎหมายอัคคีภัยปี ๒๕๕๕ ออกมานั้นไม่ได้มีการระบุว่าโรงงานประเภทไหนจะต้องติดตั้งระบบน้ำดับเพลิง แปลว่าทุกโรงงานจะต้องติดตั้งระบบน้ำดับเพลิงใช่หรือไม่แล้วถ้าโรงงานไม่มีงบประมาณในการติดตั้งระบบน้ำดับเพลิง
จะต้องทำอย่างไรได้บ้าง
 หมายเหตุ หน้าโรงงานมีท่อน้ำดับเพลิงของราชการตั้งอยู่ห่างประมาณ ๑๐ เมตร

ตอบ
กรณีที่มีท่อน้ำดับเพลิงหน่วยงานราชการตั้งอยู่ ถ้ามีการประเมินแล้วว่า ปริมาณนำ้และแรงดันเพียงพอกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ตามกฎกระทรวง ข้อ ๑๒ (๑)
แต่ถ้าไม่เป็นไปตามข้อ ๑๒ (๑) สถานประกอบกิจการต้องดำเนินการจัดให้มีระบบน้ำดับเพลิงที่เหมาะสมและครอบคลุมกับสภาพความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการเพื่อการดับเพลิงขั้นต้นได้อย่างเพียงพอ

คำถามที่ ๒. ขอสอบถามเรื่องการขึ้นทะเบียน จป.ว
ถ้าทางบริษัทยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถขึ้นทะเบียน จป.ว.ได้หรือเปล่า เพราะมีการจ้างงานแล้ว
ตอบ
การขึ้นทะเบียน จป ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานฯ ๒๕๔๙ ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนใดๆของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น ถ้าสถานประกอบกิจการรับ จป เป็นลูกจ้างแล้ว สามารถขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่รับผิดชอบพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่

คำถามที่ ๓. ต้องการกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย     อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๕๑  ฉบัับภาษาอังกฤษ สามารถดาวน์โหลดที่ใด 
ตอบ
มีการเผยแพร่ กฎหมายความปลอดภัย "ก่อสร้าง" ภาษาอังกฤษ ในเว็บไซต์ สำนักความปลอดภัยแรงงาน www.oshthai.org  หรือ ตามลิ้งค์ http://www.oshthai.org/index.php?option=com_news&task=detail&detail_id=582&Itemid=25&lang=th

คำถามที่ ๔. ขอสอบถามเกี่ยวกับการแจ้งขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย
     ตามที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างแต่งตั้งลูกจ้าง ที่ปฎิบัติงานในระดับ หัวหน้างาน และระดับบริหาร ทุกคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน  โดยต้องยึดตามผังโครงสร้างของบริษัทหรือไม่ (บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต แม่พิมพ์รีดเกลียว )
     ถ้ายึดตามผังโครงสร้างบริษัท หากมีพนักงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหารบางส่วนที่ปฎิบัติงานประจำอยู่ตามสาขา
     - สาขาที่ ๑ เป็นส่วนของ Customer Service & Marketing สนับสนุนโรงงานการผลิต จำนวนพนักงาน ไม่เกิน ๒๐ คน
     - สาขาที่ ๒ เป็นส่วนของ Marketing สนับสนุนโรงงานการผลิต จำนวนพนักงาน ไม่เกิน ๒๐ คน แต่มีรายชื่ออยู่   ในโครงสร้างเดียวกัน โดยในโครงสร้างไม่ได้ระบุแยกตามสาขาที่ปฏิบัติงาน หากต้องมีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด ต้องขึ้นทะเบียนที่ไหน หรือได้รับการยกเว้น
ตอบ
๑. การพิจารณาว่าจะฝึกอบรมลูกจ้างคนใดและแต่งตั้งเป็น จป ระดับใดนั้นขึ้นอยู่กับประเภทกิจการและมีจำนวนเข้าข่ายตามที่ก็หมายกำหนด รวมทั้งโครงสร้างขององค์กร
๒. แต่ละสาขาจะเป็นแต่ละหน่วยงานของสถานประกอบกิจการที่ตั้งในพื้นที่นั้น ถ้ายกตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น หน่วยงานก่อสร้างอาคาร หน่วยงานก่อสร้างถนน ซึ่งทั้งสองเป็นสาขาของสถานประกอบกิจการก่อสร้างที่อาจมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ชิดลม กรณีสาขาที่ ๑ และ ๒  ถ้าเป็นหน่วยงานไม่มีการผลิตและมีลูกจ้างไม่ถึง ๒๐ คน ไม่ต้องจัดให้มี จป.

คำถามที่ ๕. สอบถามเรื่องการขึ้นทะเบียนวิทยากรตาม พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย๚ พ.ศ. ๒๕๕๔ หมวด ๒ มาตรา ๑๑ "นิติบุคคลใดประสงค์ จะให้บริการในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดฝึกอบรมหรื อให้ คําปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานตามมาตรฐาน ที่กําหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๘ จะต้องได้รับ ใบอนุญาตจากอธิบดี" ว่ามีรายละเอียดเอกสารที่ต้องยื่นอะไรบ้าง

ตอบ (เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗)
อยู่ระหว่างขั้นตอนการร่างกฎหมายดังกล่าว 

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๒)
“แรงงานนอกระบบ”

เมื่อกล่าวถึง “แรงงานนอกระบบ” ผู้อ่านหลายท่านเกิดความสงสัยว่าหมายถึงใคร บ้างก็ว่าแม่ค้าแผงลอย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และเข้าไปดูแลในด้านต่างๆ แต่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการที่แรงงาน เหล่านั้นควรจะได้รับ ผู้อ่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการดูแลแรงงานนอก      ในมาตรา ๔๐ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ฉบับแก้ไข โดยผู้มีสิทธิประกันตนตามมาตรา ๔๐ เช่น เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับจ้างอิสระ คนทำงานบ้าน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (เช่น วิศวกร แพทย์ ทนายความ ช่างเสริมสวย) เป็นต้น
สำหรับด้านความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้กำหนดนิยาม              “แรงงานนอกระบบ หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในวัยกำลังทำงานและมีงานทำแต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย       และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” โดยแนวปฏิบัตินี้จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมใน    การทำงานตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยฯ แบ่งออกเป็น ๒ มาตรการ คือ มาตรการดูแลสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมาตรการส่งเสริมสุขภาพ                  ในกรณีที่มีหัวหน้างานผู้เป็นหัวหน้างานต้องควบคุม กำกับ ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุน         การทำงานของแรงงานนอกระบบนั้น
สำหรับมาตรการที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติ พอสรุปได้ คือ
๑.    มาตรการดูแลสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น
-         คู่มือความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงาน
-         ก่อนทำงานต้องตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เป็นต้น
-         จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ และติดป้ายเตือนอันตราย
-         จัดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น ถุงมือ รองเท้า ผ้าปิดจมูก และปลั๊กอุดหู เป็นต้น
-         กำหนดเวลาพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายในการปฏิบัติงาน
-         จัดให้มีเวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นเพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
-         จัดให้มีน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะและห้องน้ำห้องส้วมที่เพียงพอ
๒.    มาตรการส่งเสริมสุขภาพ เช่น
-         งดสบบุหรี่ในสถานที่ทำงาน
-         การล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และชำระล้างร่างกายหลังเลิกงาน
-         มีกิจกรรมส่งเสริม เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น
-         การคัดแยกและเก็บขยะจากการทำงาน

มาตรการทั้งสองนี้เป็นแนวทางการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อลดความสูญเสียของแรงงานเอง และภาครัฐบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือภาระที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวและสังคมกรณีทุพพลภาพ เป็นต้น        การขยายขอบเขตการดูแลแรงงานนอกระบบนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.oshthai.org และสถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานของแรงงานนอกระบบที่ http://service.nso.go.th/nso/web/article/article_65.html

ที่มาข้อมูล :
๑.    ขั้นตอนการเบิกสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๐ : เว็บไซต์ www.sso.go.th
๒.    ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย     อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ,             กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๑)

ความคืบหน้าเกี่ยวกับ “กองทุนความปลอดภัยฯ”


ผู้เขียนหายหน้าหายตาไปซักระยะหนึ่งเนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่สำนักความปลอดภัยแรงงาน ต้องเตรียมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน แห่งชาติโดยปี ๒๕๕๖ เป็นครั้งที่ ๒๗ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓-๕ กรกฎาคม ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ในหัวข้องาน “เศรษฐกิจก้าวไกล แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”

ในครั้งนี้ผู้เขียนอยากเล่าเรื่องความคืบหน้าของกองทุนความปลอดภัยฯ ที่ก่อตั้งขึ้นตามที่   พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ได้มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัยฯ ที่จะให้เงินช่วยเหลือ เงินอุดหนุน เงินกู้ยืม และเงินทดรองจ่าย แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่ให้ความสนใจ โดย
“เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน” เป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือและอุดหนุนการดำเนินการ                
        ๑) รณรงค์ส่งเสริม พัฒนา แก้ไข และบริหารงานความปลอดภัยฯ
            ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : หน่วยงานหรือบุคคลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
) โครงการ/แผนงานส่งเสริม ศึกษาวิจัย และพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : หน่วยงานของรัฐ สมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน หรือบุคคล
) บริหารกองทุนความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
“เงินให้กู้ยืม” เป็นเงินที่จ่ายให้นายจ้างกู้ยืมเพื่อแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงาน
            ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : นายจ้าง
“เงินทดรองจ่าย” เป็นเงินทดรองจ่ายในกรณีที่อธิบดีสั่งให้พนักงานตรวจความปลอดภัยหรือมอบหมายให้บุคคลใดเข้าจัดการแก้ไขปรับปรุงสภาพความไม่ปลอดภัยแทนนายจ้าง
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ส่วนการขอรับเงินนั้น ผู้มีสิทธิขอรับจะต้องยื่นเอกสารเบื้องต้น เช่น สำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองนิติบุคคลแล้ว ยังต้องยื่นเอกสารแสดงรายละเอียดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง คือ
๑)    วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
๒)    แผนการดำเนินงาน
๓)    จำนวนช่วยเหลือและอุดหนุน
๔)    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงาน
กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิไม่ดำเนินการตามแผนภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับเงินหรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ คณะกรรมการกองทุนความปลอดภัยฯ สามารถเรียกเงินคืนหรือสั่งระงับตามที่เห็นควร

จากที่ผู้เขียนได้สรุปดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ากองทุนความปลอดภัยฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันหรือเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต และผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.oshthai.org

ที่มาข้อมูล :
ระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน การขอเงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน การอนุมัติเงินทดรองจ่าย การขอเงินทดรองจ่ายการให้กู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนแก่กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๖

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๐)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมชี้แจงการเตรียมพร้อม      เพื่อรองรับ  การประกาศบังคับใช้ “กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ    และดำเนินการ   ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.........” ซึ่งคาดว่าจะกฎกระทรวงจะบังคับใช้ในอนาคตต่อกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน ในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย    และสภาพแวดล้อม  ในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.. ๒๕๕๕       ภายใต้พระราชบัญญัติ   ความปลอดภัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม กฎหมายของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านส่วนมากรวมทั้งผู้เขียนมีโอกาส      ได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว แต่กฎหมายของกระทรวงคมนาคมแล้วส่วนตัวผู้เขียนเองมีโอกาสค้นคว้าและนำไปปฏิบัติไม่บ่อยนักในการทำงาน
          สัปดาห์นี้ผู้เขียนจึงขอแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องมาตรการด้านความปลอดภัยใน   การขนส่งที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าและเรียบเรียงจากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และคู่มือพัฒนาศักยภาพผูประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก กรมการขนส่งทางบก โดยผู้เขียนไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย(ในการทำงาน) เกี่ยวกับการบรรทุกสารเคมีอันตรายเพียงด้านเดียว แต่จะรวมถึงความปลอดภัย (ในการทำงาน) ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เครื่องอุปโภคบริโภค ผลิตผลการเกษตร เป็นต้น
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒  ได้แบ่งรถบรรทุกตามลักษณะรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ๙ ลักษณะ คือ
รถลักษณะที่ ๑ รถกระบะบรรทุก เป็นรถกระบะทั้งที่มีหลังคาและไม่มีหลังคา กระบะที่มีเครื่องทุ่นแรงสำหรับยกสิ่งของที่จะบรรทุก หรือกระบะที่สามารถยกเท
รถลักษณะที่ ๒ รถบรรทุกตู้ เป็นตู้ทึบที่มีหลังคาถาวร มีห้องคนขับและตัวถังบรรทุกติดกันหรือแยกกันก็ได้
รถลักษณะที่ ๓ รถบรรทุกของเหลว เป็นถังสำหรับบรรจุของเหลวที่เหมาะสมกับของเหลวที่บรรทุก
รถลักษณะที่ ๔ รถบรรทุกวัตถุอันตราย เป็นการบรรทุกที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อบรรทุกวัตถุอันตราย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สารเคมี
รถลักษณะที่ ๕ รถบรรทุกเฉพาะกิจ  เป็นการบรรทุกที่มีลักษณะพิเศษ เช่น รถบรรทุกขวดเครื่องดื่ม รถผสมปูนซีเมนต์ เป็นต้น
รถลักษณะที่ ๖ รถพ่วง รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกทั้งหมดเฉลี่ยลงเพลาล้อของตัวเอง
รถลักษณะที่ ๗ รถกึ่งพวง รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงเพลาล้อรถลากจูง  
รถลักษณะที่ ๘ รถกึ่งพวงบรรทุกวัสดุยาว  รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงเพลาล้อรถลากจูง และสามารถปรับระยะห่างระหว่างรถลากจูงกับรถกึ่งพวง
รถลักษณะที่ ๙ รถลากจูง เป็นรถที่ใช้ในการลากจูงรถพวง  รถกึ่งพวง และรถกึ่งพวงบรรทุกวัสดุยาวโดยเฉพาะ 

          ส่วนมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งตามกฏหมายว่าด้วยการขนส่งและจราจรทางบก ส่วนที่เกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างที่จะต้องร่วมกันปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ที่พอสรุปได้ดังนี้

๑. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๑.๑ ผู้ประกอบการขนส่งต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดปฎิบัติหน้าที่ขับรถกระทำการหรือมีอาการเมาสุราหรือของมึนเมา เสพยาเสพติดให้ให้โทษ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๔๐)
๑.๒ ผู้ประกอบการขนส่งต้องดูแลป้องกันมิให้ผู้ใดปฎิบัติหน้าที่ขับรถมีอาการเมาสุราหรือของมึนเมา   เสพยาเสพติดให้ให้โทษ หากปราฏว่าผู้ขับรถกระทำดังกล่าวให้ถือว่าผู้ประกอบการขนส่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท (มาตรา ๔๐)
๑.๓ รถที่นำมาใช้ต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยในการใช้งาน หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๗๑)
๑.๔ ผู้ขับรถต้องแต่งกายสะอาดเรียบร้อยในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐๒)
๑.๕ ผู้ขับต้องไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๒)
๑.๖ ผู้ขับรถต้องไม่ขับรถในเวลาร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐๓)
๑.๗ ผู้ขับรถต้องไม่ขับรถเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๑๐๓) คือ ในรอบ ๒๔ ชั่วโมง
          ห้ามมิให้ผู้ขับปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเกิน ๔ ชั่วโมง นับแต่เริ่มปฎิบัติหน้าที่ขับรถ เว้นแต่ผู้ขับรถได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ไม่เกิน ๔ ชั่วโมง
          หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท

  ๒.   พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๒.๑ รถบรรทุกให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๓.๐๐ เมตรจากพื้นทาง เว้นแต่รถบรรทุกที่มีความกว้างเกิน ๒.๓๐ เมตร ให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตรจากพื้นทาง
๒.๒ รถบบรรทุกตู้สำหรับบรรทุกสิ่งของ (Container) ให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๔.๒๐ เมตรจากพื้นทาง
๒.๓ รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม
          - ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือเทศบาล
          - ความเร็วไม่เกิน ­๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตดังกล่าว
๒.๔ รถบรรทุกขณะที่ใช้ลากจูงรถพ่วง
          - ความเร็วไม่เกิน ๔๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือเทศบาล
          - ความเร็วไม่เกิน ­๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตดังกล่าว
๒.๕ รถบรรทุกซึ่งบรรทุกวัตถุอันตราย
          - ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษฉลองรัช
          - ความเร็วไม่เกิน ๗๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางพิเศษบูรพาวิถี และทางอุดรรัถยา
๒.๖ ยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ (สายกรุงเทพฯ-พัทยา) และทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอนนอกกรุงเทพฯ
          - ความเร็วไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม
          - ความเร็วไม่เกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกอื่นที่นอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูงพ่วง
๒.๗ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน  สัตว์  หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกินมิให้คน สัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล  ส่งกลิ่นส่องแสงสะท้อนหรือปลิวไปจากรถ อันตรายอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ อันตรายแก่บุคคลอื่นได้กำหนดโทษ ตามมาตรา  ๑๔๘  ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษไม่เกิน  ๕๐๐  บาท(มาตรา ๒๐) 

            จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ารถบรรทุกที่อาจเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนน     ทำให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนได้รับอันตราย ไม่เพียงแต่รถบรรทุกสารเคมีอันตรายเท่านั้นแต่ยังมีรถบรรทุกอีกหลายลักษณะในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ที่อาจเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เช่นกัน ซึ่งสถานประกอบกิจการควรนำข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มากำหนดมาตราการควบคุมและป้องกัน ตั้งแต่เกณฑ์การรับสมัครผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงการปฏิบัติงานประจำวันของผู้ปฏิบัติงาน

แหล่งที่มาข้อมูล :
๑.   พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒, กฎกระทรวงฉบับที่ ๔
๒.   กรมการขนส่งทางบก, คู่มือพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก, โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก.