จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๒)
“แรงงานนอกระบบ”

เมื่อกล่าวถึง “แรงงานนอกระบบ” ผู้อ่านหลายท่านเกิดความสงสัยว่าหมายถึงใคร บ้างก็ว่าแม่ค้าแผงลอย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และเข้าไปดูแลในด้านต่างๆ แต่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการที่แรงงาน เหล่านั้นควรจะได้รับ ผู้อ่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการดูแลแรงงานนอก      ในมาตรา ๔๐ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ฉบับแก้ไข โดยผู้มีสิทธิประกันตนตามมาตรา ๔๐ เช่น เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับจ้างอิสระ คนทำงานบ้าน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (เช่น วิศวกร แพทย์ ทนายความ ช่างเสริมสวย) เป็นต้น
สำหรับด้านความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้กำหนดนิยาม              “แรงงานนอกระบบ หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในวัยกำลังทำงานและมีงานทำแต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย       และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” โดยแนวปฏิบัตินี้จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมใน    การทำงานตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยฯ แบ่งออกเป็น ๒ มาตรการ คือ มาตรการดูแลสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมาตรการส่งเสริมสุขภาพ                  ในกรณีที่มีหัวหน้างานผู้เป็นหัวหน้างานต้องควบคุม กำกับ ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุน         การทำงานของแรงงานนอกระบบนั้น
สำหรับมาตรการที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติ พอสรุปได้ คือ
๑.    มาตรการดูแลสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น
-         คู่มือความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงาน
-         ก่อนทำงานต้องตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เป็นต้น
-         จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ และติดป้ายเตือนอันตราย
-         จัดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น ถุงมือ รองเท้า ผ้าปิดจมูก และปลั๊กอุดหู เป็นต้น
-         กำหนดเวลาพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายในการปฏิบัติงาน
-         จัดให้มีเวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นเพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
-         จัดให้มีน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะและห้องน้ำห้องส้วมที่เพียงพอ
๒.    มาตรการส่งเสริมสุขภาพ เช่น
-         งดสบบุหรี่ในสถานที่ทำงาน
-         การล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และชำระล้างร่างกายหลังเลิกงาน
-         มีกิจกรรมส่งเสริม เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น
-         การคัดแยกและเก็บขยะจากการทำงาน

มาตรการทั้งสองนี้เป็นแนวทางการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบมีความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อลดความสูญเสียของแรงงานเอง และภาครัฐบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือภาระที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวและสังคมกรณีทุพพลภาพ เป็นต้น        การขยายขอบเขตการดูแลแรงงานนอกระบบนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.oshthai.org และสถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานของแรงงานนอกระบบที่ http://service.nso.go.th/nso/web/article/article_65.html

ที่มาข้อมูล :
๑.    ขั้นตอนการเบิกสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๐ : เว็บไซต์ www.sso.go.th
๒.    ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย     อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ,             กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน