จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๑)

ความคืบหน้าเกี่ยวกับ “กองทุนความปลอดภัยฯ”


ผู้เขียนหายหน้าหายตาไปซักระยะหนึ่งเนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่สำนักความปลอดภัยแรงงาน ต้องเตรียมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน แห่งชาติโดยปี ๒๕๕๖ เป็นครั้งที่ ๒๗ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓-๕ กรกฎาคม ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ในหัวข้องาน “เศรษฐกิจก้าวไกล แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”

ในครั้งนี้ผู้เขียนอยากเล่าเรื่องความคืบหน้าของกองทุนความปลอดภัยฯ ที่ก่อตั้งขึ้นตามที่   พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ได้มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัยฯ ที่จะให้เงินช่วยเหลือ เงินอุดหนุน เงินกู้ยืม และเงินทดรองจ่าย แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่ให้ความสนใจ โดย
“เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน” เป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือและอุดหนุนการดำเนินการ                
        ๑) รณรงค์ส่งเสริม พัฒนา แก้ไข และบริหารงานความปลอดภัยฯ
            ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : หน่วยงานหรือบุคคลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
) โครงการ/แผนงานส่งเสริม ศึกษาวิจัย และพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : หน่วยงานของรัฐ สมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน หรือบุคคล
) บริหารกองทุนความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
“เงินให้กู้ยืม” เป็นเงินที่จ่ายให้นายจ้างกู้ยืมเพื่อแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคเนื่องจากการทำงาน
            ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : นายจ้าง
“เงินทดรองจ่าย” เป็นเงินทดรองจ่ายในกรณีที่อธิบดีสั่งให้พนักงานตรวจความปลอดภัยหรือมอบหมายให้บุคคลใดเข้าจัดการแก้ไขปรับปรุงสภาพความไม่ปลอดภัยแทนนายจ้าง
    ผู้มีสิทธิขอรับเงิน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ส่วนการขอรับเงินนั้น ผู้มีสิทธิขอรับจะต้องยื่นเอกสารเบื้องต้น เช่น สำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองนิติบุคคลแล้ว ยังต้องยื่นเอกสารแสดงรายละเอียดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง คือ
๑)    วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
๒)    แผนการดำเนินงาน
๓)    จำนวนช่วยเหลือและอุดหนุน
๔)    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงาน
กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิไม่ดำเนินการตามแผนภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับเงินหรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ คณะกรรมการกองทุนความปลอดภัยฯ สามารถเรียกเงินคืนหรือสั่งระงับตามที่เห็นควร

จากที่ผู้เขียนได้สรุปดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ากองทุนความปลอดภัยฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันหรือเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต และผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.oshthai.org

ที่มาข้อมูล :
ระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน การขอเงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุน การอนุมัติเงินทดรองจ่าย การขอเงินทดรองจ่ายการให้กู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนแก่กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๖