จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


ความปลอดภัย (ในการทำงาน) ง่ายนิดเดียว (ตอนที่ ๑๐)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมชี้แจงการเตรียมพร้อม      เพื่อรองรับ  การประกาศบังคับใช้ “กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ    และดำเนินการ   ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.........” ซึ่งคาดว่าจะกฎกระทรวงจะบังคับใช้ในอนาคตต่อกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน ในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย    และสภาพแวดล้อม  ในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.. ๒๕๕๕       ภายใต้พระราชบัญญัติ   ความปลอดภัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม กฎหมายของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านส่วนมากรวมทั้งผู้เขียนมีโอกาส      ได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว แต่กฎหมายของกระทรวงคมนาคมแล้วส่วนตัวผู้เขียนเองมีโอกาสค้นคว้าและนำไปปฏิบัติไม่บ่อยนักในการทำงาน
          สัปดาห์นี้ผู้เขียนจึงขอแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องมาตรการด้านความปลอดภัยใน   การขนส่งที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าและเรียบเรียงจากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และคู่มือพัฒนาศักยภาพผูประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก กรมการขนส่งทางบก โดยผู้เขียนไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย(ในการทำงาน) เกี่ยวกับการบรรทุกสารเคมีอันตรายเพียงด้านเดียว แต่จะรวมถึงความปลอดภัย (ในการทำงาน) ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เครื่องอุปโภคบริโภค ผลิตผลการเกษตร เป็นต้น
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒  ได้แบ่งรถบรรทุกตามลักษณะรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ๙ ลักษณะ คือ
รถลักษณะที่ ๑ รถกระบะบรรทุก เป็นรถกระบะทั้งที่มีหลังคาและไม่มีหลังคา กระบะที่มีเครื่องทุ่นแรงสำหรับยกสิ่งของที่จะบรรทุก หรือกระบะที่สามารถยกเท
รถลักษณะที่ ๒ รถบรรทุกตู้ เป็นตู้ทึบที่มีหลังคาถาวร มีห้องคนขับและตัวถังบรรทุกติดกันหรือแยกกันก็ได้
รถลักษณะที่ ๓ รถบรรทุกของเหลว เป็นถังสำหรับบรรจุของเหลวที่เหมาะสมกับของเหลวที่บรรทุก
รถลักษณะที่ ๔ รถบรรทุกวัตถุอันตราย เป็นการบรรทุกที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อบรรทุกวัตถุอันตราย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สารเคมี
รถลักษณะที่ ๕ รถบรรทุกเฉพาะกิจ  เป็นการบรรทุกที่มีลักษณะพิเศษ เช่น รถบรรทุกขวดเครื่องดื่ม รถผสมปูนซีเมนต์ เป็นต้น
รถลักษณะที่ ๖ รถพ่วง รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกทั้งหมดเฉลี่ยลงเพลาล้อของตัวเอง
รถลักษณะที่ ๗ รถกึ่งพวง รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงเพลาล้อรถลากจูง  
รถลักษณะที่ ๘ รถกึ่งพวงบรรทุกวัสดุยาว  รถที่ไม่รถเคลื่อนด้วยตัวเองต้องมีรถลากจูง น้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงเพลาล้อรถลากจูง และสามารถปรับระยะห่างระหว่างรถลากจูงกับรถกึ่งพวง
รถลักษณะที่ ๙ รถลากจูง เป็นรถที่ใช้ในการลากจูงรถพวง  รถกึ่งพวง และรถกึ่งพวงบรรทุกวัสดุยาวโดยเฉพาะ 

          ส่วนมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งตามกฏหมายว่าด้วยการขนส่งและจราจรทางบก ส่วนที่เกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างที่จะต้องร่วมกันปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ที่พอสรุปได้ดังนี้

๑. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๑.๑ ผู้ประกอบการขนส่งต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดปฎิบัติหน้าที่ขับรถกระทำการหรือมีอาการเมาสุราหรือของมึนเมา เสพยาเสพติดให้ให้โทษ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๔๐)
๑.๒ ผู้ประกอบการขนส่งต้องดูแลป้องกันมิให้ผู้ใดปฎิบัติหน้าที่ขับรถมีอาการเมาสุราหรือของมึนเมา   เสพยาเสพติดให้ให้โทษ หากปราฏว่าผู้ขับรถกระทำดังกล่าวให้ถือว่าผู้ประกอบการขนส่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท (มาตรา ๔๐)
๑.๓ รถที่นำมาใช้ต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยในการใช้งาน หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๗๑)
๑.๔ ผู้ขับรถต้องแต่งกายสะอาดเรียบร้อยในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐๒)
๑.๕ ผู้ขับต้องไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๒)
๑.๖ ผู้ขับรถต้องไม่ขับรถในเวลาร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐๓)
๑.๗ ผู้ขับรถต้องไม่ขับรถเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๑๐๓) คือ ในรอบ ๒๔ ชั่วโมง
          ห้ามมิให้ผู้ขับปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเกิน ๔ ชั่วโมง นับแต่เริ่มปฎิบัติหน้าที่ขับรถ เว้นแต่ผู้ขับรถได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ไม่เกิน ๔ ชั่วโมง
          หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท

  ๒.   พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๒.๑ รถบรรทุกให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๓.๐๐ เมตรจากพื้นทาง เว้นแต่รถบรรทุกที่มีความกว้างเกิน ๒.๓๐ เมตร ให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตรจากพื้นทาง
๒.๒ รถบบรรทุกตู้สำหรับบรรทุกสิ่งของ (Container) ให้บรรทุกสูงไม่เกิน ๔.๒๐ เมตรจากพื้นทาง
๒.๓ รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม
          - ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือเทศบาล
          - ความเร็วไม่เกิน ­๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตดังกล่าว
๒.๔ รถบรรทุกขณะที่ใช้ลากจูงรถพ่วง
          - ความเร็วไม่เกิน ๔๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือเทศบาล
          - ความเร็วไม่เกิน ­๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตดังกล่าว
๒.๕ รถบรรทุกซึ่งบรรทุกวัตถุอันตราย
          - ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษฉลองรัช
          - ความเร็วไม่เกิน ๗๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางพิเศษบูรพาวิถี และทางอุดรรัถยา
๒.๖ ยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ (สายกรุงเทพฯ-พัทยา) และทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอนนอกกรุงเทพฯ
          - ความเร็วไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม
          - ความเร็วไม่เกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกอื่นที่นอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูงพ่วง
๒.๗ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน  สัตว์  หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกินมิให้คน สัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล  ส่งกลิ่นส่องแสงสะท้อนหรือปลิวไปจากรถ อันตรายอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ อันตรายแก่บุคคลอื่นได้กำหนดโทษ ตามมาตรา  ๑๔๘  ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษไม่เกิน  ๕๐๐  บาท(มาตรา ๒๐) 

            จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ารถบรรทุกที่อาจเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนน     ทำให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนได้รับอันตราย ไม่เพียงแต่รถบรรทุกสารเคมีอันตรายเท่านั้นแต่ยังมีรถบรรทุกอีกหลายลักษณะในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ที่อาจเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เช่นกัน ซึ่งสถานประกอบกิจการควรนำข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มากำหนดมาตราการควบคุมและป้องกัน ตั้งแต่เกณฑ์การรับสมัครผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงการปฏิบัติงานประจำวันของผู้ปฏิบัติงาน

แหล่งที่มาข้อมูล :
๑.   พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒, กฎกระทรวงฉบับที่ ๔
๒.   กรมการขนส่งทางบก, คู่มือพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก, โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก.